วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2552

คำให้การ ของ "คนมือบอน" ?

คำให้การ ของ "คนมือบอน" ? บรรดากระแสวัฒนธรรมมวลชนที่ไหลหลากผ่านทางสื่อสารพัดรูปแบบ โดยเฉพาะสื่ออินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อ แลกเปลี่ยนความคิดคนจากโลกฟากหนึ่งไปยังอีกฟากหนึ่ง สนับสนุนให้เกิดงานศิลปะรูปแบบหนึ่ง ที่มีสีสเปรย์เป็นอุปกรณ์
เชื่อได้เลยว่าเวลาที่นั่งรถไปไหนต่อไหน ถ้าใส่ใจมองรอบข้างสักนิด จะต้องสังเกตเห็นบนผนังกำแพงที่รกร้างว่างเปล่า ผนังบ้านร้าง ถูกพ่นสีเป็นตัวหนังสือบ้าง เป็นภาพสีสดๆ บ้าง บางคนเรียกเจ้าของผลงานเหล่านี้ว่า พวกมือบอน และเห็นสิ่งที่คนเหล่านั้นทำว่า เป็นการทำให้บ้านเมืองเลอะเทอะ อาจเป็นเพราะในเมืองไทยเมื่อเอ่ยถึงการพ่นสีบนกำแพง สิ่งที่ผุดขึ้นมาในความทรงจำอย่างแรกคือ การพ่นสีประกาศศักดาว่าสถาบันไหนเป็นบิดาสถาบันไหน การพ่นคำหยาบๆ คายๆ
การขีดๆ เขียนๆ เอาสีสเปรย์พ่นตามผนังพื้นที่ว่างทั่วไปเป็นตัวอักษรบ้าง เป็นภาพบ้าง รู้จักกันในชื่อว่า "กราฟิตี้" (Graffitti) บ้างว่าแผลงมาจากคำว่า "graffito" ซึ่งแปลว่า "ภาพร่างอย่างหยาบๆ บนกำแพง" บ้างก็ว่าย่อมาจากคำว่า "Graphic in city" ซึ่งหมายถึงภาพที่มีในเมือง กราฟิตี้ เป็นการแสดงออกที่มาพร้อมกับวัฒนธรรมฮิพฮอพของชาวอเมริกันผิวดำ ถือกำเนิดขึ้นราวปลายทศวรรษที่ 1960 เผยแพร่ไปยังทั่วโลกผ่านสื่อต่างๆ อาทิ ภาพยนตร์ ดนตรี หนังสือ ฯลฯ
สาระสำคัญคือ การสะท้อนความเป็นไปของสังคมแบบมหานครอย่างแจ่มแจ้งด้วยภาษาดิบๆ และอารมณ์ขันเชิงเหน็บแนมเสียดสี ในบ้านเรากราฟิตี้เริ่มเข้ามาฝังตัวเมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อน อาจกล่าวได้ว่ามากับกีฬาเอ็กซ์ตรีม แฟชั่นของเด็กสเก็ต (บอร์ด)
แม้ว่าปัจจุบันกลุ่มคนทำกราฟ หรือที่เรียกว่า "ไรเตอร์" (Writer) จะผลัดรุ่น แยกกระจายกันไปมีอาชีพของตนเอง แต่เด็กรุ่นใหม่ก็ก้าวเข้ามาแทนที่ และมีผู้ให้ความสนใจในงานประเภทนี้กว้างขวางขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะสามารถปรึกษาหารือ รวมทั้งแลกเปลี่ยนผลงานกันชมผ่านทางเว็บบอร์ดได้
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า กราฟิตี้ เป็นศิลปะในเงามืด เพราะไรเตอร์ต้องกระทำอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ถ้าเป็นที่โล่งว่างอย่าง ใต้ทางด่วนหรือผนังอาคารร้าง ฯลฯ จะเริ่มออกตระเวนทำงานก็หลังตี 2 ไปแล้ว เพื่อให้ปลอดจากสายตาของสายตรวจ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็ต้องให้กลืนไปกับชาวบ้านร้านถิ่น ไม่ให้เป็นที่สังเกต อาทิ เสื้อยืด กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะ และที่ขาดไม่ได้คือ หน้ากากกันฝุ่นสีสเปรย์
ส่วนอุปกรณ์การ "บอมบ์" ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติการหนึ่งครั้งนั้นจะมากน้อยแค่ไหน ไรเตอร์ระดับมืออาชีพผู้หนึ่งบอกว่า "ขึ้นกับ "ความอยาก" ถ้าอยากมากหน่อยก็ต้องวางแผนนานหน่อย บางทีเดินๆ ไปเจอตู้ที่มีคนอื่นเขียนไว้แล้ว ก็จะร่วมแจมสักหน่อย เพราะปกติจะพกมาร์คเกอร์ (ปากกา) ติดตัว แต่ถ้าวันไหนจะเอาแน่ จะพกสเปรย์ไป"
แต่จะปรามาสว่าเป็นศิลปะราคาถูกคงไม่ได้ เพราะอุปกรณ์การสร้างงานนั้นก็ราคาไม่ใช่ถูกๆ อย่างสเปรย์กระป๋อง กระป๋องละ 40 บาท ซื้อคราวหนึ่ง 5 ลัง (1 ลัง มี 12 กระป๋อง) เผื่อสำหรับใช้หลายงาน ส่วนหัวสเปรย์นั้นต้องสั่งซื้อผ่านทางอินเตอร์เน็ต
เด็กไรเตอร์ อย่างกลุ่มนี้ที่มารวมตัวกันเฉพาะกิจ ในนามกลุ่ม The Rebellion ร่วมกันสร้างสรรค์งานศิลปะแนว Graffitti and Visual Art อย่างเป็นทางการในนิทรรศการ Keep on keeping on ที่หอศิลป์ Si-am Art Space Gallery ระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2549 จนถึง 31 มกราคม 2550
เด็กกลุ่มนี้ไม่ใช่เด็กข้างถนน จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งนั้น จากมหาวิทยาลัยศิลปากรบ้าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ฯลฯ และปัจจุบันมีการงานเป็นกิจจะลักษณะเหมือนคนอื่นๆ เพียงแต่รักงานกราฟิตี้
"ชิงหลิว" ผู้คร่ำหวอดในแวดวงกราฟตี้ เล่าถึงนิยามของกราฟตี้อย่างง่ายๆ ว่า กราฟิตี้ คือ การที่เราทำอะไรกับกำแพงโดยที่เราตั้งใจ เช่น ถ้าใครสักคนขับรถผ่านมาแล้วล้อเหยียบน้ำใส่กำแพง เรียกว่า น้ำเลอะ แต่ถ้าหิ้วน้ำมากระป๋องหนึ่งแล้วสาดใส่กำแพง คือ กราฟิตี้
กราฟิตี้แบ่งเป็น 2 หมวดหมู่ คือ หมวดหมู่ที่สร้างสรรค์ กับหมวดหมู่ที่ทำลาย พวกทำลายคือ การพยายามเขียนชื่อตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไปไหนก็เขียน ส่วนพวกที่สร้างสรรค์คือ คนที่ทำงานเป็นอาร์ต ทำเป็นงานพีซ (piece) คือ ถมสีเยอะๆ ใช้เวลานานๆ เป็นแนวสร้างสรรค์ จะทำตามตึกร้าง หรือสถานที่ที่อนุญาตให้ทำ การพ่นสีประกาศศักดาสถาบันตนเองของเด็กช่างก็ถือเป็นกราฟิตี้ เพราะวิธีการแสดงออกเหมือนกัน เขาก็มีเรื่องราวของเขา มีที่ทางของเขา ส่วนใหญ่จะพ่นอยู่หน้าโรงเรียน หรือถิ่นที่เป็นศัตรูของเขา จึงไม่ค่อยมีปัญหากัน
"กราฟิตี้ทุกยุคทุกแห่งเริ่มจากการพ่นเป็นตัวอักษร แล้วค่อยๆ มีการพัฒนารูปแบบจนมาถึงปัจจุบัน บางคนแต่ก่อนอาจจะเคยทำกราฟิตี้ก็พัฒนามาทำสตรีท อาร์ต เช่น ทำโปสเตอร์ใหญ่ๆ แล้วปีนขึ้นไปติดบนป้ายบิลบอร์ดสูงๆ คือเป็นการเล่นกับวัสดุและพื้นที่ เช่น ใช้สติ๊กเกอร์ เพนซิล บ๊อกซ์ ฯลฯ หรืออาจจะเอารองเท้าผูกเชือกแล้วไปโยนบนเสาไฟฟ้าก็ได้ มีความหลากหลายกว่ากราฟตี้ ซึ่งใช้แค่ปากกาและสีสเปรย์"
ส่วนพื้นที่ที่ต้องตาต้องใจไรเตอร์โดยใหญ่จะเป็นแหล่งชุมชน เป็นจุดที่โล่งๆ ที่คนทั่วไปจะสังเกตเห็น ซึ่งยิ่งเด่นยิ่งทำยาก แต่ก็ท้าทาย "พูดถึงว่าถูกกฎหมายหรือเปล่า มันไม่ถูกกฎหมายอยู่แล้ว เพราะทำในที่ที่เขาไม่อนุญาต" ชิงหลิวยอมรับ จึงไม่แปลกที่เด็กกลุ่มนี้จะต้องแอบทำงานที่เขารักอย่างหลบๆ ซ่อนๆ กว่าจะเริ่มงานได้ก็ต้องตะวันตกดินไปแล้ว ยกเว้นตามตึกร้างที่จะเริ่มทำงานกันในช่วงกลางวัน และทำงานอย่างระแวดระวัง
แต่ก็มีบางครั้งที่วิ่งหนีไม่ทัน ถูกจับไปสอบประวัติและต้องนอนค้างในห้องขังเสียคืน ด้วยข้อหา "ทำให้เสียทรัพย์""อเล็กซ์" และ "บ๊วย" 2 ไรเตอร์ระดับซีเนียร์ เล่าถึงจุดที่เริ่มต้นสนใจทำงานกราฟิตี้ว่า "เริ่มจากการที่ผมเล่นสเก็ตบอร์ด มันมากับลายสเก็ตบอร์ด กับเสื้อผ้า หนังสือ ซึ่งตอนนั้นผมคิดแค่ว่า ลายมันสวยดี อยากเขียนบ้าง ก็เริ่มเขียนจากกำแพงบ้านตัวเองที่โคราช แล้วขยับไปเขียนที่รั้วบ้าน ข้างบ้าน ขยายออกไปเรื่อยๆ
แม่ผมมองว่าเป็นการเขียนภาพสวยๆ ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องร้ายอะไร เพราะไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร แถวบ้านก็ไม่มีใครว่า จริงๆ แล้วมันเหมือนเป็นการพัฒนาพื้นที่มากกว่า" บ๊วยเล่าก่อน "อเล็กซ์" ไรเตอร์กลุ่มเดียวกันเล่าเสริมว่า "คนต่างจังหวัดไม่ค่อยว่าอะไร เวลาพ่นก็ขอกันง่ายๆ อาจจะเป็นเพราะไม่ค่อยมีงานแบบนี้ให้เห็น
ที่บ้านผมที่แปดริ้วก็เหมือนกันบางทีผมก็ไม่ได้ขอ ไปพ่นเลย พอเขาเห็นว่าพ่นเป็นรูปก็ไม่ได้ว่าอะไร บางครั้งผมกำลังพ่นอยู่มีพ่อแม่ลูกซ้อนมอเตอร์ไซค์มาจอดดู พอผมหันไปเห็นก็ชมว่าสวย แล้วบอกว่าเดี๋ยวไปซื้อกับข้าวก่อนแล้วจะมาใหม่ ทั้งๆ ที่เราไม่เคยรู้จักกันบางคนขับผ่านก็ตะโกนแซวว่า แล้วจะเสร็จเหรอ แต่ประสบการณ์ในแง่ลบก็มีเหมือนกัน อย่างครั้งหนึ่งผมกำลังพ่นกับเพื่อนอยู่ที่ริมสวน (จตุจักร) จู่ๆ มีก้อนหินขว้างมา แล้วผมก็เห็นคนโผล่ขึ้นมาจากกำแพง มือถือมีดเคาะกำแพง ถามว่า "ที่คุณเหรอ" ผมก็คุยดีๆ ว่าถ้าพี่ไม่ชอบผมลบก็ได้ ก็ไม่มีเรื่องกัน" ขณะที่ "บอล" ไรเตอร์ในกลุ่มขบถ (The Rebellion) เล่าว่า ทำงานกราฟิตี้มานานแล้วตั้งแต่ยังอยู่ชั้นมัธยมศึกษา แต่หยุดไปพักหนึ่งเพราะไปเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ด้านศิลปะ
"พอเรียนศิลปะแล้วรู้สึกว่า กราฟิตี้มันเพียวกว่า แล้วตอนนี้ยุคสมัยมันเหมือนกับมีแรงขับทางอย่างนี้อยู่ เหมือนเป็นอาร์ตที่ลงสู่มวลชนได้ทั้งหมด ไม่ใช่ว่าทำเสร็จไว้ในแกลอรีแล้วก็จบ มีคนไม่กี่คนที่ได้ดูงานนี้ แต่อันนี้เหมือนให้เลย ไว้แบ่งกันดู ถามว่าเป็นกระแสหรือเปล่า ผมว่าไม่ใช่กระแส ตอนนี้มันเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว เพราะทั่วโลกล้วนมีงานกราฟิตี้ แต่อยู่ที่ว่าใครจะทำในแนวไหนเท่านั้น
สำหรับผม ผมทำการเฝ้ามองชีวิต ทั้งชีวิตคนชีวิตสัตว์ แต่ก็ไม่ได้จริงจังอะไรมากมาย เช่น เจอคนกระทำกับคนแบบหนึ่งก็มาเขียนในแบบของผม ซึ่งผมเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ฉะนั้นสิ่งที่ผมทำก็คือการสะท้อนสังคมวิธีหนึ่ง"กับการมารวมตัวกันครั้งนี้ ทุกคนบอกว่าต้องการแสดงให้คนเห็นว่า กราฟิตี้ ก็คือ ศิลปะแขนงหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วคนที่สร้างงานอย่างนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นกราฟิตี้จ๋าเสียทีเดียว แต่ทุกคนทำงานหลักเกี่ยวกับศิลปะ
เช่นเดียวกับ "หญ้าหวาน" สาวน้อยหนึ่งเดียวของกลุ่ม เล่าถึงการร่วมแสดงงานในครั้งนี้ว่า ปกติไม่ค่อยได้ออกไปผจญภัยทำงานกราฟสักเท่าไร เพราะติดเรียน แต่ความที่มีคาแร็กเตอร์การ์ตูนของตนเองเป็นแนวกราฟิตี้ จึงได้รับการชวนให้เข้ามาร่วมแสดงงาน "จริงๆ แล้วกราฟิตี้ก็เป็นเทคนิคหนึ่งของงานศิลปะ เหมือนการเพนท์ การพิมพ์ ฯลฯ"
"ต่าย" เป็นอีกสมาชิกของกลุ่มนี้ที่แม้จะทำงานแนวกราฟิตี้ แต่ก็มีอาชีพหลักเป็นอาจารย์สอนศิลปะ "ผมเป็นคนที่รับสื่อฯ อยู่กับทีวี วิทยุ ฉะนั้นสิ่งที่เห็นคือ ข่าวสารต่างๆ งานของผมจึงแสดงความคิดในรูปแบบของผมผ่านงานศิลปะ ซึ่งรูปแบบจะออกไปในทางเพนท์เป็นภาพล้อสังคม"กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เด็กกราฟ ในสายตาของคนทั่วไปเป็นจำเลยของสังคม ที่ทำความเลอะเทอะเปรอะเปื้อนให้กับบ้านเมือง บ้างมองถึงกับเป็นเด็กเหลือขอ เล่นเอาเถิดเอาล่อกับตำรวจตลอดเวลา
อเล็กซ์บอกอย่างเปิดอกว่า "ผมคิดว่าสิ่งที่ผมคิดมีความสร้างสรรค์ พัฒนาพื้นที่ เพราะที่ว่างๆ หันไปเห็นก็เซ็ง งานของผมก็ไม่ได้ทำให้เสาถล่ม ปูนแตก แต่น่าจะมีความสร้างสรรค์มากกว่า เพราะเวลาที่ผมเขียน ผมเขียนอย่างลงตัวที่สุด และก็ไม่ได้เขียนไปทั่วทุกแห่ง อย่างถ้าเป็นกำแพงวัดก็จะไม่ทำ" เหล่านี้เป็นเพียงมุมมองหนึ่ง ที่หยิบเศษเสี้ยวเรื่องราวของเด็กกราฟกลุ่มหนึ่งมาบอกเล่าไว้ ที่เหลือสุดแล้วแต่ใครจะเห็นต่าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น