วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2552

ผีข้างกำแพงกราฟิตี้ในเมลเบิร์น


ผีข้างกำแพงกราฟิตี้ในเมลเบิร์น 'ไรเตอร์' หรือเด็กกราฟกำลังตั้งอกตั้งใจร่างภาพก่อนพ่นสีบนกำแพงที่เมลเบิร์น ใครที่เคยเห็นภาพศิลปะบนกำแพงที่รกร้างว่างเปล่า บางทีก็เป็นผนังบ้านร้าง ผนังตึกเก่าๆโทรมๆถูกพ่นสีเป็นตัวหนังสือแปลกๆบ้าง เป็นภาพสีสดๆ บ้าง คงนึกสงสัยว่าเป็นฝีมือของพวกกวนเมือง มือบอนที่ชอบขีดๆเขียนๆ หรือพ่นสีสเปรย์ตามกำแพงเพื่อให้บ้านเมืองเลอะเทอะสะใจเล่นเท่านั้นเอง โดยเฉพาะพวกที่ชอบพ่นสีประกาศศักดาว่าสถาบันไหนเป็นบิดาสถาบันไหน หรือการพ่นคำหยาบๆ คายๆ ด่าพ่อล่อแม่คนอื่น อันที่จริงภาพแปลกๆเหล่านั้น เป็นที่คุ้นตากันดีในบ้านเมืองที่เจริญแล้ว โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป อังกฤษ อเมริกา และออสเตรเลีย และถูกจัดอยู่ในกลุ่มการทำงานศิลปะข้างถนน(Street Art) อย่างหนึ่งที่เรียกว่า "กราฟิตี้" (Graffitti)
รากศัพท์ของคำว่า Graffitti ไม่แน่ชัดว่ามาจากไหนกันแน่ แต่มีผู้ให้คำอธิบายอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆว่า อย่างหนึ่งแผลงมาจากคำว่า "graffito" แปลว่า "ภาพร่างอย่างหยาบๆ บนกำแพง" กับอีกคำอธิบายหนึ่งบอกว่าย่อมาจากคำว่า "Graphic in city" ซึ่งหมายถึงภาพที่มีอยู่ในเมืองใหญ่ ชอบความหมายไหนก็เลือกเชื่ออย่างนั้นแล้วกันนะ ว่ากันว่าที่มีของศิลปะ กราฟิตี้ นั้น เป็นการแสดงออกทางศิลปะที่ต้องการสะท้อนความเป็นไปของสังคมแบบมหานครอย่างแจ่มแจ้งด้วยภาษาดิบๆ หยาบๆ และอารมณ์ขันเชิงเหน็บแนมเสียดสี เป็นศิลปะที่มาพร้อมกับวัฒนธรรมฮิพฮอพของชาวอเมริกันผิวดำ ถือกำเนิดขึ้นราวปลายทศวรรษที่ 1960 และเมื่อมีคนต่างถิ่นไปพบเห็นก็ถูกนำออกไปเผยแพร่ต่อทั่วโลก ประกอบกับสื่อต่างๆให้ความสนใจ กราฟิตี้จึงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการลอกเลียนความคิดนำไปผลิตงานศิลปะแนวนี้ตามท้องถิ่นอื่นๆ อย่างกว้างขวาง รวมทั้งในเมืองไทยของเราด้วย แต่น่าเสียดายว่างานในแนวสตรีทอาร์ตของบ้านเราไม่เป็นที่น่าสนใจและได้รับการสนับสนุนนัก เพราะส่วนใหญ่นำความคิดมาถ่ายทอดในแนวสกปรกเลอะเทอะ และพ่นสีสเปรย์ด่าทอกันระหว่างสถาบันมากกว่าจะใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำออกมาให้เป็นงานศิลปะ กราฟิตี้ อย่างจริงจัง
ในบางประเทศคนสร้างงานกราฟิตี้ที่เรียกตัวเองว่า “ไรเตอร์” หรือผู้เขียน อาจต้องแอบผลิตงานศิลปะของเขาอย่างหลบๆซ่อนๆ เพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ก็เลยถูกเรียกว่าเป็นศิลปินในเงามืดด้วย โดยเฉพาะในเมืองไทย มีคนกลุ่มหนึ่งที่นิยมสร้างกราฟิตี้ตามที่โล่งว่างอย่างใต้ทางด่วนหรือผนังอาคารร้าง จะออกตระเวนทำงานตอนหลังตี 2 ไปแล้ว เพื่อให้ปลอดจากสายตาของสายตำรวจ พวกเขาจะสวมใส่เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายกลืนไปกับชาวบ้านร้านถิ่น ไม่ให้เป็นที่สังเกต อาทิ เสื้อยืด กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะ และที่ขาดไม่ได้คือ หน้ากากกันฝุ่นสีสเปรย์ เด็กกลุ่มนี้เคยรวมตัวกันได้ในนาม กลุ่ม The Rebellion และสามารถร่วมกันสร้างสรรค์งานศิลปะแนว Graffitti and Visual Art อย่างเป็นทางการมาแล้วครั้งหนึ่งในนิทรรศการ Keep on keeping on ที่หอศิลป์ Si-am Art Space Gallery เดือนมกราคมปี2550 โดยสมาชิกในกลุ่มไม่ใช่เด็กข้างถนนอย่างที่เราเข้าใจ แต่จบการศึกษาระดับอุดมศึกษากันทั้งนั้น และมีการงานเป็นกิจจะลักษณะเหมือนคนอื่นๆ เพียงแต่รักงานกราฟิตี้ก็เลยมารวมตัวกัน นิยามความเป็นกราฟิตี้โดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 หมวดหมู่ คือ หมวดหมู่ที่สร้างสรรค์ กับหมวดหมู่ที่ทำลาย พวกทำลายคือ การพยายามเขียนชื่อตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไปไหนก็เขียน ส่วนพวกที่สร้างสรรค์คือ คนที่ทำงานเป็นอาร์ต ทำเป็นงานพีซ (piece) คือ ถมสีเยอะๆ ใช้เวลานานๆ เป็นแนวสร้างสรรค์ จะทำตามตึกร้าง หรือสถานที่ที่อนุญาตให้ทำ
ส่วนการพ่นสีประกาศศักดาสถาบันตนเองของเด็กช่างฯ แม้จะเลอะเทอะกวนตาแต่ก็ถือเป็น กราฟิตี้ได้ เพราะวิธีการแสดงออกก็คือการถ่ายทอดความรู้สึกเหมือนกัน เพียงแต่เป็นเรื่องราวเฉพาะของตัวเอง ถ้าหากมีที่ทางของเขาแถวหน้าโรงเรียนไม่ไปกวนถิ่นที่เป็นศัตรูก็จะไม่ค่อยมีปัญหากัน กราฟิตี้ทุกยุค ทุกแห่ง เริ่มจากการพ่นสีเป็นตัวอักษร แล้วค่อยๆ มีการพัฒนารูปแบบขึ้นเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน โดยการสร้างสรรค์กราฟิตี้จะใช้แค่ปากกาและสีสเปรย์เท่านั้น ที่เอามาให้ชมนี้เป็นกราฟิตี้บนท้องถนนของนครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งชุมนุมของงานศิลปะกราฟิตี้แหล่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทำออกมาได้สนุก มีความคิดสร้างสรรค์แปลกแหวกแนวหลากหลาย และเท่าที่เคยเห็นมา เด็กกราฟที่นี่ตอนเขียนภาพเขาไม่ได้หลบๆซ่อนๆแบบในเมืองไทย แต่ยืนเขียน ปีนเขียน และพ่นสีกันกลางวันแสกให้เห็นกันต่อหน้าต่อตาเลยทีเดียว ใครจะถ่ายรูปก็ถ่ายไป ใครจะมามุงดูก็ไม่ว่ากัน ชุดแรกที่เอามาอวดนี้เป็นชุดโหดๆเกี่ยวกับเรื่องราวของผีและวิญญาณตามผนังตึกเก่าๆ ดูแล้วชวนสยองเหมือนกัน บรื๋ออ....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น