วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2552

โรคซึมเศร้า....เกิดโดยไม่รู้ตัว

ภาวะซึมเศร้า เป็นปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่พบได้ในปุถุชนทุกคนเมื่อมีการสูญเสียครั้งสำคัญเกิดขึ้น ซึ่งการสูญเสียที่ว่านั้น มักจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 3 อย่างต่อไปนี้ โดยอาจเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน อย่างแรกได้แก่ของหรือบุคคลอันเป็นที่รัก เช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงเสียชีวิต แฟนหนีไปคบกับคนอื่น ต้องพลัดพรากจากกัน ตัวเองต้องถูกตัดแขน ตัดขา หรืออวัยวะบางส่วน อย่างที่สอง สูญเสียเงินทองและทรัพย์สมบัติ เช่น ถูกลักขโมย ไฟไหม้บ้าน ถูกโกง หรือ ประการที่สาม สูญเสียสถานภาพทางสังคม เช่น สอบตก ถูกไล่ออกจากงาน ถูกฟ้องล้มละลาย มีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องเสียชื่อเสียงและเกียรติยศ เป็นต้น เมื่อมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น คนเรามักจะเกิดความรู้สึกเสียใจหรืออาการเศร้าโศก ดังนั้นภาวะซึมเศร้าจึงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของมนุษย์ ซึ่งทุกคนต้องมีความเศร้าโศกบ้างเป็นครั้งคราว แต่ถ้าหากใครไม่รู้สึกสนุกสนานหรือมีความสุขเลยหลังจากไปเยี่ยมเยียนเพื่อนฝูงหรือชมภาพยนต์ดีๆสักเรื่อง กรณีนี้คงเป็นปัญหาสำคัญเหมือนกัน เศร้านานๆอาจกลายเป็นโรค ภาวะซึมเศร้าระยะยาวโดยไม่มีการฟื้นตัว สามารถเปลี่ยนแปลงแนวความคิดหรือความรู้สึกของมนุษย์ได้ แพทย์มักเรียกภาวะนี้ว่า โรคซึมเศร้า การแยกภาวะซึมเศร้าออกจากโรคซึมเศร้าดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ความเสียใจ ความผิดหวัง ความล้มเหลว และความคับข้องใจเป็นภาวะในชีวิตประจำวันอย่างหนึ่งของคนเรา ดังนั้นการแบ่งแยกขอบเขตระหว่างภาวะซึมเศร้าปกติและภาวะซึมเศร้าที่ผิดปกติ หรือโรคซึมเศร้า จึงมักไม่ชัดเจน ทำให้การประเมินและการวินิจฉัยพลอยยุ่งยากไปด้วย ครอบครัวและเพื่อนฝูงของผู้ป่วยอาจมองเห็นความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น ว่าเป็นเรื่องเล็ก เมื่ออาการที่ปรากฎคล้ายกับภาวะอารมณ์ปกติ แม้แต่แพทย์ทั่วไปก็อาจประเมินว่าปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ เมื่อความสูญเสียหรือตัวกระตุ้นความเศร้ามองเห็นเด่นชัด โดยทั่วไปโรคซึมเศร้าซึ่งจัดว่าเป็นโรคความแปรปรวนทางอารมณ์นั้น มักเกี่ยวกับปฏิกิริยาเศร้าโศกที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและมีช่วงเวลานานกว่าธรรมดาโดยกระทบกระเทือนการปฏิบัติหน้าที่ต่อสังคมและการทำงานตามปกติของร่างกาย แม้ความรู้สึกหดหู่อย่างต่อเนื่องไม่ใช่เป็นลักษณะปกติของการเข้าสู่วัยสูงอายุ แต่พบว่ามักจะเกิดขึ้นและเป็นปัญหาของผู้สูงอายุอย่างหนึ่งที่ต้องการการดูแลรักษา สำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่นั้น โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้หลายวิธี เช่นการใช้จิตบำบัดหรือการพูดคุยกับจิตแพทย์ การใช้ยา หรือการรักษาด้วยวิธีอื่นๆดังนั้น ผู้ป่วยจึงไม่ควรที่จะทนทุกข์ทรมานอยู่กับความซึมเศร้าต่อไป มีเหตุหลายประการที่ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุมักจะถูกมองข้ามหรือไม่ได้รับการรักษา ในขณะที่เข้าสู่วัยสูงอายุ อาการของโรคซึมเศร้ามักถูกมองว่าเป็นลักษณะของความชราภาพ บางครั้งความรู้สึกสับสนหรือปัญหาเกี่ยวกับการขาดสมาธิ ถูกมองว่าเป็นอาการของโรคสมองเสื่อมหรือความผิดปกติอย่างอื่นความแปรปรวนของอารมณ์จึงอาจเกิดขึ้นจากยา ที่ผู้สูงอายุใช้ประจำอยู่ เช่น ยาลดความดันโลหิต หรือยารักษาโรคหัวใจ โรคซึมเศร้าอาจเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับโรคเรื้อรังอื่น เเม้การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าจะเป็นเรื่องลำบากสำหรับแพทย์ทั่วไปแต่ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีชีวิตที่มีความสุขได้ด้วยการรักษาที่ถูกต้อง สาเหตุของโรคซึมเศร้า การเกิดโรคซึมเศร้าไม่มีสาเหตุจำเพาะอย่างหนึ่งอย่างใด สำหรับคนบางคนการสูญเสียของที่รักเพียงอย่างเดียวก็ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ บางคนภาวะซึมเศร้าอาจเกิดขึ้นเมื่อผจญปัญหาการเสียชีวิตของสมาชิกในครอบครัว หรือการเกิดโรครุนแรงอย่างกระทันหัน บางคนอาจเกิดโรคซึมเศร้าจากความผิดปกติของระบบสารเคมีในสมอง หรือแม้กระทั่งบางคนอาจเกิดโรคซึมเศร้าได้โดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน บางกรณีภาวะซึมเศร้าอาจเกี่ยวข้องกับยาที่ใช้หรือโรคอย่างอื่นที่เป็นอยู่ ยาบางตัวที่ใช้รักษาโรคไขข้ออักเสบ โรคเกี่ยวกับหัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือมะเร็งมีผลข้างเคียงทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ผลข้างเคียงนี้อาจไม่ปรากฎอย่างทันทีหลังเริ่มใช้ยา จึงทำให้ผู้ป่วยมองข้ามไปได้ โรคประจำตัวบางโรคทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ เช่น โรคพาร์กินสัน หลอดเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน หรือความบกพร่องของฮอร์โมน นอกจากนั้น พันธุกรรมยังมีส่วนกำหนดด้วยว่าแต่ละคนมีโอกาสเกิดโรคซึมเศร้าได้มากน้อยแค่ไหน จากการศึกษาวิจัยปรากฎว่าโรคซึมเศร้าสามารถถ่ายทอดมาตามตระกูลได้ ลูกของผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าได้มากกว่าลูกของคนปกติ โดยสรุปพอจะกล่าวได้ว่า สาเหตุสำคัญของโรคซึมเศร้ามีอยู่ 2 อย่าง อย่างหนึ่งเน้นเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสีย อีกอย่างหนึ่งเชื่อว่าคนที่มีอาการซึมเศร้ามีความผิดปกติเกี่ยวกับพื้นฐานทางชีวภาพซึ่งทำให้ไม่สามารถจัดการกับปัญหาหรือการเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้เช่นปกติ อาการของโรคซึมเศร้า อาการโดยทั่วไปของผู้ป่วยโรคนี้มีหลายอย่างได้แก่ มีอารมณ์เศร้าหรือหดหู่อย่างต่อเนื่อง อารมณ์เศร้าเป็นอาการที่เด่นชัดและสำคัญพบได้เกินกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเสียใจ เศร้าใจ ผิดหวัง สิ้นหวัง อ้างว้าง เบื่อ เซ้ง ท้อแท้ อ่อนอกอ่อนใจทอดอาลัยในชีวิต มักแสดงท่าทาง คำพูด สีหน้าและการแต่งกายจะสอดคล้องกับความรู้สึกที่ผู้ป่วยเล่าให้ฟัง อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยจำนวนน้อยที่ไม่มีอาการดังกล่าวซึ่งอาจเรียกว่า โรคซึมเศร้าชนิดซ่อนเร้นหรือแฝง บางทีเรียกว่า โรคซึมเศร้าชนิดหน้าเปื้อนยิ้ม ในกรณีนี้จะสังเกตผู้ป่วยได้จากอาการอย่างอื่น มีความวิตกกังวล ราวร้อยละ 60-70 ของผู้ป่วยซึมเศร้ามีอาการวิตกกังวลร่วมอยู่ด้วย ความวิตกกังวลหมายถึงความรู้สึกกระวนกระวายหรืออึดอัดที่เกิดขึ้นภายในตัวของผู้ป่วยเอง ร่วมกับความคิดในเรื่องของความกลัว ความหวาดหวั่นความพรั่นพรึงลางร้าย และการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะมีสิ่งคุกคามหรือภยันตรายเกิดขึ้น มักมีอาการของความแปรปรวนทางระบบประสาทอัตโนมัติเสริมด้วย เช่น เหงื่อออก ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว แน่นอึดอัดในท้อง เป็นต้น หลายรายมีอาการทั้งสองอย่าง จึงเรียกรวมๆกันว่า กลุ่มอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า รู้สึกเหนื่อยอ่อน สูญสิ้นพลังกาย ทำให้กิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับสังคมครอบครัว การประกอบอาชีพและเพศลดน้อยลง ผู้ป่วยมีความรู้สึกว่า ทรุดลงหนัก แขนขาหมดเรี่ยวแรง มักชอบแปลความหมายของความรู้สึกเช่นนี้ว่า เกิดจากสมองไม่ทำงาน ประสาทเสื่อมจนถึงขั้นหลงผิด อาจคิดว่าตนเป็นโรคที่เรื้อรังหรือรักษาไม่หาย เช่น มะเร็ง หรือวัณโรค เป็นต้น มีอาการเฉื่อยชา นั่งซึม ไม่อยากเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวช้ากว่าปกติสีสหน้าเศร้าและหม่นหมอง เหม่อลอย สายตาไร้จุดหมาย พร้อมกันนี้ผู้ป่วยจะรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง อ่อนอก อ่อนใจ พูดช้าน้ำเสียงค่อยหรืออาจแผ่วเบาจนเกือบไม่ได้ยิน การตอบคำถามและการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ ก็เชื่องช้า บางรายอาจนิ่งหรือไม่ยอมพูดเลย ในรายที่มีอาการซึมเศร้าแบบรุนแรง ผู้ป่วยไม่ยอมเคลื่อนไหว นิ่งเงียบ ไม่ยอมรับประทานอาหารและทำกิจกรรมอื่นๆอาจถึงขั้นอุจจาระและปัสสาวะราด ความสนใจและกิจกรรมทางเพศลดลง ในผู้ชายอาจเกิดกามตายด้านหรืออวัยวะเพศหย่อนสมรรถภาพ ซึ่งมีส่วนกระตุ้นทำให้เกิดความตึงเครียดในชีวิตสมรส รวมทั้งการสูญเสียเกี่ยวกับศักดิ์ศรีหรือการยกย่องตนเองของผู้ป่วยด้วย นอกจากนี้ จะมีปัญหาด้านการรับประทานอาหารและน้ำหนักตัว ผู้ป่วยส่วนมากรู้สึกเบื่ออาหาร มีผลทำให้น้ำหนักลดลง อย่างไรก็ตาม มีผู้ป่วยจำนวนน้อยโดยเฉพาะพวกวัยรุ่นที่มีอาการซึมเศร้าไม่ค่อยรุนแรงอาจรับประทานอาหารเพิ่มขึ้น มักเป็นตอนเย็นและตอนกลางวัน เด็กพวกนี้จัดการกับความรู้สึกซึมเศร้าด้วยการกินมากเกินไป มีอาการทางร่างกาย พบได้บ่อยซึ่งเกี่ยวข้องกับอวัยวะทุกระบบในร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ สมองมึนงง ปวดหลังคอ ปวดเอว กล้ามเนื้อเกร็ง มีก้อนจุกในคอ เปรี้ยวปาก หน้ามืด ตาลาย ปากแห้ง แน่นท้อง ท้องอืด ท้องผูก ปัสสาวะลำบากมีอาการทุรนทุราย หมายความว่าผู้ป่วยมีกิจกรรมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น รู้สึกอึดอัด กระวนกระวาย อยู่ไม่สุข เครียดผุดลุกผุดนั่ง หรือนั่งไม่ติดที่ มักชอบเดินไปเดินมา บีบมือ สั่นศีรษะ กัดเล็บ ใช้นิ้วมือเคาะโต๊ะ สูบบุหรี่จัดมีปัญหาในการรวบรวมสมาธิ ความจำหรือการตัดสินใจ ผู้ป่วยชอบบ่นว่าขาดสมาธิ ความจำไม่ดี และคิดอะไรไม่ออกหรือช้า อาจหมกมุ่นเกี่ยวกับความคิดที่ก่อให้เกิดผลเสียหลายอย่าง คิดแล้วคิดอีก ตำหนิตนเอง และเบื่อจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ มักร้องไห้บ่อยครั้งโดยไม่มีสาเหตุอันควร การรักษาโรคควรทำอย่างไร ปัจจุบันนี้โรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้โดยวิธีการรักษาต่างๆ ซึ่งขึ้นกับลักษณะของผู้ป่วย ได้แก่ การบำบัดทางจิตวิทยาและสังคม การใช้จิตบำบัดโดยจิตแพทย์อาจพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อให้เปลี่ยนแนวความคิดในแง่ร้ายซึ่งนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า หรือให้ปรับเปลี่ยนสัมพันธภาพกับผู้คนรอบตัวให้ดีขึ้น อันจะทำให้ความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวังลดลง การรักษาเป็นกลุ่มโดยแนะนำทักษะการแก้ปัญหาหรือให้การเกื้อหนุนทางสังคมแก่ผู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญในชีวิต การรักษาด้วยยาต้านซึมเศร้า ยาเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์ดีขึ้น นอนหลับง่าย รู้สึกอยากอาหาร และมีสมาธิ มียาด้านซึมเศร้าหลายประเภทให้เลือกใช้โดยยาเหล่านี้จะให้ผลรักษาอย่างช้าๆซึ่งบางตัวอาจต้องอาศัยเวลา6-12สัปดาห์กว่าจะเห็นผล และเมื่ออาการซึมเศร้าหมดไปแล้วอาจต้องใช้ยาต่อไปอีก 6 เดือน หรือนานกว่านั้น อย่างไรก็ดี ยาด้านซึมเศร้าเป็นยากลุ่มที่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังอย่างมาก เพื่อหลีกเลี่ยงผลไม่พึงประสงค์ซึ่งมีมากมาย ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาในขนาดที่เหมาะสมและตามกำหนดเวลาที่ถูกต้อง นอกจากนี้ ก็จะมีการรักษาด้วยการช็อกไฟฟ้า เป็นอีกวิธีที่ช่วยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ดี โดยมักจะใช้วิธีนี้เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาได้หรือเห็นผลช้ามากเกินไป การช็อกด้วยไฟฟ้านี้ให้ผลรวดเร็วกับผู้ป่วยส่วนใหญ่โดยจะให้การช็อกซ้ำหลายครั้งในช่วยเงลาสองสามสัปดาห์ และควรจะต้องให้การรักษาต่อไปด้วยยาหรือการช็อกไฟฟ้าเป็นครั้งคราวเพื่อป้องกันการหวนกลับมาเป็นอีก การป้องกันโรคนี้คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะฉะนั้นนอกจากวิธีการทางการแพทย์แล้ว การรู้จักปล่อยวางและทำใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นเสียบ้างก็น่าจะช่วยผ่อนหนักให้กลายเป็นเบาได้....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น