วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2552

ภาวะโรคซึมเศร้า


คุณมีอาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่

รู้สึกเศร้าใจ หม่นหมอง หงุดหงิด หรือรู้สึกกังวลใจ ไม่สบายใจ
ขาดความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบข้าง หรือสิ่งที่เคยให้ความสนุกสนานในอดีต
น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้น ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป
นอนไม่หลับ หรือนอนมากเกินกว่าปกติ
รู้สึกผิด สิ้นหวัง หรือรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ความจำแย่ลง
อ่อนเพลีย เมื่อยล้า ไม่มีเรี่ยวแรง
กระวนกระวาย ไม่อยากทำกิจกรรมใดๆ
คิดถึงแต่ความตาย และอยากที่จะฆ่าตัวตาย
ถ้าหากคุณมีอาการเช่นนี้หลายข้อ เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ คุณอาจจะกำลังเป็นโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าเป็นโรคหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงชีวิตของคนเราเหมือนกับโรคทางกายอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เป็นนั้นจะเป็นคนอ่อนแอ ล้มเหลว หรือไม่มีความสามารถ แต่เป็นเพียงการเจ็บป่วยอย่างหนึ่งเกิดได้ทั้งมีสาเหตุ เช่น การสูญเสีย การหย่าร้าง ความผิดหวังและเกิดได้เองโดยไม่มีสาเหตุใดๆ ซึ่งในปัจจุบันโรคนี้สามารถรักษาหายได้ด้วยการใช้ยา การรักษาทางจิตใจ หรือทั้งสองอย่างรวมกัน
การรักษา

โรคซึมเศร้า สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการรักษาทางจิตใจ และการรักษาด้วยยาหลายชนิด โดยที่แต่ละคนอาจตอบสนองต่อการรักษาแต่ละชนิดไม่เท่ากัน บางคนอาจต้องการการรักษาหลายอย่างร่วมกัน การรับประทานยาจะทำให้อาการของโรคดีขึ้นเร็วในขณะที่การรักษาทางจิตใจจะช่วยให้คุณเหมือนมี "ภูมิคุ้มกัน" สามารถต่อสู้กับปัญหาที่จะย่างกรายเข้ามาได้ดีกว่าเดิม ส่วนใหญ่แล้วการรักษาโรคซึมเศร้าไม่จำเป็นต้องมา นอนรักษาในโรงพยาบาลแต่อย่างไร
เมื่ออาการของโรครุนแรง จนอาจมีอันตรายจากการพยายามฆ่าตัวตาย หรือผู้ป่วยไม่สามารถกินยาได้ หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา อาจให้การรักษาด้วยไฟฟ้า แต่จะใช้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น
ยารักษาโรคซึมเศร้า

ในปัจจุบันยารักษาโรคซึมเศร้าแบ่งออกได้หลายกลุ่ม ตามลักษณะโครงสร้างทางเคมีและวิธีการออกฤทธิ์ คือ กลุ่ม tricyclic (คือยาที่มีโครงสร้างทางเคมีสามวง) กลุ่ม monoamine oxidase inhibitors เรียกย่อๆ ว่า MAOI และกลุ่มสุดท้ายคือยากลุ่มใหม่ชื่อ SSRI(serotonin-specific reuptake inhibitor) ซึ่งแต่ละกลุ่มมีข้อดีข้อเสียต่างกัน แต่ประสิทธิภาพการรักษาเท่าเทียมกัน แพทย์อาจเริ่มจ่ายยากลุ่มใดแก่ผู้ป่วย ก่อนก็ได้เพื่อดูผลตอบสนอง เนื่องจากเราไม่อาจทราบก่อนได้เลยว่า ผู้ป่วยคนใดจะ"ถูก"กับยาชนิดใด แล้วแพทย์จะค่อยๆปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับอาการต่อไป
ยารักษาโรคซึมเศร้าออกฤทธิ์โดยปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุลย์ เป็นการรักษาโรคโดยตรง มิใช่เป็นเพียงยาที่ทำให้ง่วงหลับ จะได้ไม่ต้องคิดมากเช่นที่คนมักเข้าใจผิดกันผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักต้องการหยุดกินยาเร็วกว่าที่ควรเป็น ข้อสำคัญและพึงปฏิบัติที่สุดก็คือ การกินยาอย่างต่อเนื่อง จนกว่าแพทย์จะบอกให้ท่านหยุด ถึงแม้ว่าจะรู้สึกดึขึ้นแล้วก็ตาม ยาบางตัวต้องค่อยๆลดขนาดลง เพื่อให้โอกาสร่างกายปรับตัว
ไม่ต้องกังวลว่า ยารักษาโรคซึมเศร้าเป็นยาที่กินแล้วติดหยุดยาไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ก็เช่นเดียวกับการรักษาโรคอื่นๆ แพทย์อาจให้ตรวจวัดระดับยาให้ถูกต้องกับอาการเป็นระยะๆ
สิ่งที่คุณหลีกเลี่ยงก็คือ การซื้อยากินเองจากร้านขายยา ยืมยาจากเพื่อน หรือกินยาจากแพทย์ท่านอื่นปนกับโรคซึมเศร้า โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ของท่านก่อน เช่นเดียวกับแพทย์คนอื่นหรือหมอฟันด้วยว่า ท่านกำลังกินยารักษาโรคซึมเศร้าอยู่ อย่าวางใจว่า เป็นแค่ยาพื้นบ้านธรรมดา คงไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงอะไรร้ายแรงการดื่มอัลกอฮอล์จากเหล้า เบียร์ หรือไวน์ จะลดประสิทธิภาพของยาลง
ยานอนหลับหรือยาลดความกังวล ไม่ใช่ยาที่สามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้โดยลำพังอย่างที่กล่าวแล้ว แม้ว่าบางครั้งแพทย์จะสั่งใช้ยาชนิดนี้ควบคู่ไปกับยารักษาโรคซึมเศร้าเพื่อบรรเทาอาการกังวลในระยะต้นของการรักษา และไม่ควรใช้ยากระตุ้นประสาทหรือยาม้าเพื่อหวังผลให้หายเพลียเพียงชั่วครั้งชั่วคราว
ควรถามแพทย์ทุกครั้งที่ท่านมีปัญหาที่เกิดจากยา หรือเกิดปัญหาที่คิดว่าอาจเกิดจากยา
การรักษาทางจิตใจ

มีวิธีรักษาทางจิตใจอยู่หลายรูปแบบ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าซึ่งอาจเป็นการ"พูดคุย"กับจิตแพทย์ 10 ถึง 20 ครั้ง อันจะช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจกับสาเหตุของปัญหาและนำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยการเปลี่ยนมุมมองกับแพทย์ การรักษาทางพฤติกรรมจะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีที่จะได้รับความพอใจ หรือความสุขจากการกระทำของเขา และพบวิธีที่จะหยุดพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่ความซึมเศร้าด้วย
การรักษาอีก 2 รูปแบบต่อไปที่มีการศึกษาแล้วว่า สามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้ดี คือ การรักษาแบบปรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการรักษาแบบปรับความคิดและพฤติกรรม โดยการรักษารูปแบบแรกมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาระหว่างผู้ป่วยกับคนรอบข้างที่อาจ เป็นสาเหตุและกระตุ้นให้เกิดความซึมเศร้า ส่วนการรักษาแบบหลังจะช่วยให้ผู้ป่วยเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมในแง่ลบกับตนเอง
ส่วนการรักษาโดยอาศัยทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ก็นำมารักษาโรคนี้ โดยช่วยผู้ป่วยค้นหาปัญหาข้อขัดแย้งภายในจิตใจผู้ป่วย ซึ่งอาจมีรากฐานมาจากประสบการณ์ตั้งแต่เด็ก
โดยทั่วไปสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ารุนแรง มีอาการกำเริบซ้ำๆ จะต้องการการรักษาด้วยยาร่วมกับการรักษาทางจิตใจควบคู่กัน เพื่อผลการรักษาในระยะยาวที่ดีที่สุด
จะช่วยรักษาตนเองได้อย่างไร

การป่วยด้วยโรคซึมเศร้ามักจะทำให้คุณรู้สึกเพลีย รู้สึกไร้ค่า เหมือนช่วยตัวเองไม่ได้ ไม่มีความหวัง ความคิดในแง่ลบกับตนเองในแบบนี้ มักจะทำให้ผู้ป่วยบางคนท้อถอยและยอมแพ้ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทราบว่าความคิดหรือความรู้สึก เหล่านี้เป็นเพียงแค่อาการของโรค มิได้สะท้อนเรื่องจริงในชีวิตของคุณอย่างถูกต้องแต่อย่างใด ความคิดเหล่านี้จะค่อยๆหมดไปเมื่อเริ่มต้นการรักษาไปสักระยะหนึ่ง ในระหว่างนี้คุณควรจะ
อย่านำตัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่ซับซ้อน อย่าตั้งเป้าหมายที่บรรลุได้ยาก หรือเข้าไปแบกความรับผิดชอบมากๆ
พยายามย่อยงานใหญ่ให้เป็นงานเล็ก เลือกทำที่สำคัญกว่าก่อน แล้วทำให้เต็มที่เท่าที่จะเป็นไปได้
อย่าคาดหวังกับตนเองมากเกินไป เพราะนั่นคือ คุณกำลังสร้างความล้มเหลว
ร่วมกิจกรรมที่คุณอาจเพลินใจ เช่น การออกกำลังกาย ดูหนัง ดูกีฬา เข้ากิจกรรมทางศาสนาหรือสังคม แต่อย่าหักโหมหรือหงุดหงิดถ้ามันไม่ช่วยให้คุณรู้สึกสบายใจขึ้นอย่างทันใจ เพราะอาจใช้เวลาบ้าง
อย่าด่วนตัดสินใจกับเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิต เช่น ลาออก เปลี่ยนงาน แต่งงาน หรือหย่า โดยไม่ปรึกษาคนอื่นที่รู้จักคุณดีและ มีมุมมองที่เป็นกลางต่อปัญหาพอ ไม่ว่าด้วยเหตุใด พยายามเลื่อนการตัดสินใจออกไปก่อนจนกว่าอาการป่วยของคุณจะดีขึ้น
อย่าหวังว่าจะหายจากอาการซึมเศร้าแบบ "ลัดนิ้วมือเดียว" เพราะเป็นไปได้ยาก จงพยายามช่วยตนเองให้มากที่สุด โดยไม่โทษตนเองว่า ที่ไม่หายเพราะตนเองไม่พยายามหรือไม่ดีพอ
พึงระลึกว่า จะไม่ยอมรับความคิดในแง่ร้าย บอกตนเองว่ามันเป็นสวนหนึ่งของอาการของโรคและจะหายไปเมื่ออาการของโรคดีขึ้น
ครอบครัวและเพื่อนก็ช่วยได้

จากการที่โรคทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้า หมดหวัง คุณอาจต้องการหรือต้องพึ่งความช่วยเหลือจากคนอื่นบ้างอย่างไรก็ตาม เป็นการยากที่คนไม่เคยป่วยด้วยโรคนี้จะเข้าใจผลของการเป็นโรคซึมเศร้า พวกเขาอาจพูดหรือแสดงท่าทีที่ทำให้คุณรู้สึกเสียใจ โดยที่พวกเขาไม่ได้ตั้งใจ คุณอาจส่งคำแนะนำเล่มนี้ให้คนที่คุณอยากให้เขาเข้าใจที่สุดอ่านดู เผื่อเขาจะได้เข้าใจและช่วยเหลือคุณได้บ้าง
วิธีช่วยเหลือผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือ ช่วยให้เขาได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องจากจิตแพทย์ ทั้งยังอาจช่วยให้กำลังใจเขา ให้เขาร่วมมือกับแผนการรักษาจนกว่าอาการจะทุเลา ในครั้งแรก เราอาจจะต้องเป็นผู้ช่วยนัดเหมายจิตแพทย์ให้ และไปตรวจพร้อมกับเขา แล้วช่วยติดตามว่า ผู้ป่วยได้กินยาตามที่แพทย์สั่งมาหรือไม่
ลำดับถัดมาคือ การช่วยเหลือทางจิตใจ อันได้แก่การแสดงความเข้าใจ ความอดทน ความเอาใจใส่ และให้กกำลังใจ แก่ผู้ป่วยโดยการดึงผู้ป่วยเข้ามาร่วมวงสนทนา และเป็นผู้ฟังที่ดี อย่ามองข้ามคำพูดที่ว่า อยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตาย ควรรีบแจังให้จิตแพทย์ทราบ
พยายามชวนผู้ป่วยไปเดินเล่น เปลี่ยนสถานที่ ชมภาพยนต์ หรือเข้ากิจกรรมต่างๆ ควรแสดงความตั้งใจจริงที่เราอยากให้เขาไป หากตอนแรกเขาปฏิเสธ อาจต้องคะยั้นคะยอให้เขาทำกิจกรรมที่เขาชอบและเพลิดเพลิน เช่น งานอดิเรก กีฬา ศาสนา หรือสมาคมต่างๆ แต่ไม่ต้องรีบบังคับผู้ป่วยรับที่จะทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมมากๆ และเร็วเกินควร แม้ผู้ป่วยเหล่านี้จะต้องการสิ่งที่มาจรรโลงใจ แต่การคาดหวังกับเขามากเกินไปจะยิ่งทำให้เขารู้สึกล้มเหลว
อย่ากล่าวโทษผู้ที่กำลังป่วยด้วยโรคซึมเศร้าว่า แกล้งป่วย หรือเกลียดคร้าน หรือคาดคั้นให้หายซึมเศร้าในพริบตา ในที่สุดแล้วผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นปกติ จงระลึกถึงความจริงข้อนี้และให้ความมั่นใจกับผู้ป่วยเช่นกันว่า ด้วยการช่วยเหลือและการรักษา เขาจะหายจากโรคนี้แน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น